วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ใบงานที่ 6 ข้อสอบ 7 วิชาสามัญ


ความรู้เบื้องต้น
กับการสอบ 7 วิชสามัญ
(ข้อสอบย้อนหลังมีด้านล่างนะครับ)



7 วิชาสามัญ คืออะไร และต้องสอบทั้ง 7 วิชาเลยไหม

               สทศ. บอกมาว่าเป็นข้อสอบที่ยากกว่า O-NET แต่ง่ายกว่า GAT PAT จัดทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในอดีตที่สมัยก่อนหากเด็ก ม.6 สมัครรับตรง 5 ที่ ก็ต้องวิ่งหัวฟูไปสอบ 5 ครั้ง แต่หากเป็นปีนี้สบายมาก ไม่ว่าจะสมัครกี่ที่ ก็สอบแค่ครั้งเดียวจบ คือ สอบ 7 วิชาสามัญครั้งเดียว ชุดเดียว ทั่วประเทศจบไปเลย โดย 7 วิชาสามัญนี้แต่ละคณะจะสอบไม่เท่ากันนะครับ บางคณะก็สอบหมด 7 วิชา บางคณะก็สอบแค่ 3 ดังนั้น น้องๆ ต้องไปดูในระเบียบการรับตรงแต่ละมหาวิทยาลัย ว่าคณะที่เราจะเข้า เขาได้มากำหนดให้สอบวิชาไหน ส่วนมหาวิทยาลัยไหนไม่กำหนด ก็ไม่ต้องสอบจ้า

ใครต้องสมัครบ้าง

               คนที่สมัครได้คือ น้องๆ ม.6 ปวช. กศน. หรือพี่ๆ เด็กซิ่ว พ่อแม่ที่จบสูงกว่า ม.6 ขึ้นไปจ้า

มหาวิทยาลัยไหนต้องใช้คะแนน 7 วิชาสามัญนี้บ้าง
                 มีประมาณ 7 แห่งครับ ยกตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะอักษรศาสตร์ - คณะนิติศาสตร์ - คณะเศรษฐศาสตร์ - คณะวิทยาศาสตร์ - คณะครุศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร (คณะอักษรศาสตร์ - คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร - คณะวิทยาการจัดการ - คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร - คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม - คณะวิทยาศาสตร์ - คณะศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณะสหเวชศาสตร์) รับตรง กสพท. (คณะแพทยศาสตร์ - คณะทันตแพทยศาสตร์) และยังมีอีกหลายวิทยาลัยนะครับ น้องๆ อย่าลืมไปเช็คที่เว็บมหาวิทยาลัยนั้นๆ ด้วยนะ

7 วิชาสามัญกับเคลียริ่งเฮ้าส์ มันคืออันเดียวกันไหม

               คนละอันกันครับ พูดง่ายๆ ก็คือ 7 วิชาสามัญเป็นส่วนหนึ่งในระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ โดยยกตัวอย่างว่า ระบบ "เคลียริ่งเฮ้าส์" จะเป็นระบบที่เปิดให้น้องๆ มายืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาได้เพียงแค่ 1 คณะเท่านั้น เช่น พี่ลาเต้ วิ่งสอบรับตรงทั่วประเทศติดทั้งหมด 4 มหาวิทยาลัย โดย 4 มหาวิทยาลัยที่ติดนั้นเข้าร่วม "เคลียริ่งเฮ้าส์" ทั้งหมด พอถึงเวลาที่ยืนยันสิทธิ์ พี่ลาเต้ ก็เลือกได้แค่ 1 แห่งเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่งก็จะกลายเป็นที่นั่งว่าง และรับเพิ่มในรอบแอดมิชชั่นกลางต่อไป ซึ่งต่างจากปีก่อนๆ ที่หากสอบตรงติด 4 ที่ ก็ยืนยันสิทธิ์มัน 4 ที่ไปเลยก็ได้ จนอาจเป็นกักที่คนอื่นในที่สุด T^T ส่วน 7 วิชาสามัญ เป็นข้อสอบ 7 วิชาที่จัดสอบโดย สทศ. ออกมาเพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบของน้องๆ และลดภาระการจัดสอบของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นเอง

สมัครที่ไหน อย่างไร

              ขั้นตอนการสมัคร จะเหมือนกันกับสมัคร GAT PAT เลยครับ มีให้เลือกสนามสอบด้วยนะ ระบบจะเปิดให้สมัครตั้งแต่วันที่ 1 - 30 ตุลาคม 54 และสอบในต้นเดือนมกราคม 55 ส่วนค่าสมัครวิชาละ 100 บาทคร้าบ อ๋อๆ สนามที่ใช้สอบเบื้องต้นมี 4 ศูนย์นะครับ คือ กรุงเทพฯ (สนามสอบจุฬาฯ ธรรมศาสตร์) ขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) เชียงใหม่ (ม.เชียงใหม่) พิษณุโลก (ม.นเรศวร) และสงขลา (มอ.หาดใหญ่) ซึ่งหากมียอดผู้สมัครมาก ทาง สทศ.อาจเพิ่มสนามสอบให้ครับ รอติดตามๆ ว่าแล้วก็ไปสมัครกันเลยที่เว็บ www.niets.or.th


สมัครแล้ว 7 วิชาสามัญ มันคืออะไร และคณะไหนต้องสอบ !!



ข้อสอบ 7 วิชาสามัญ ปี 2555 (สอบ ม.ค. 2555)


- คณิตศาสตร์ คลิกที่นี่ + เฉลย คลิกที่นี่

- ฟิสิกส์ + เฉลย คลิกที่นี่

- เคมี + เฉลย คลิกที่นี่

- ชีววิทยา คลิกที่นี่

- ภาษาไทย คลิกที่นี่

- สังคมศึกษา คลิกที่นี่

- ภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่ + เฉลย คลิกที่นี่





ข้อสอบ 7 วิชาสามัญ ปี 2556 (สอบ ม.ค. 2556)


- คณิตศาสตร์ คลิกที่นี่ + เฉลย ตอนที่ 1 คลิกที่นี่ ตอนที่ 2 คลิกที่นี่

- ฟิสิกส์ + เฉลย คลิกที่นี่

- เคมี คลิกที่นี่

- ชีววิทยา คลิกที่นี่

- ภาษาไทย คลิกที่นี่

- สังคมศึกษา คลิกที่นี่

- ภาษาอังกฤษ + เฉลย คลิกที่นี่


ข้อสอบ 7 วิชาสามัญ ปี 2557 (สอบ ม.ค. 2557)

- คณิตศาสตร์ คลิกที่นี่ + เฉลย คลิกที่นี่

- ฟิสิกส์ คลิกที่นี่

- เคมี คลิกที่นี่ + เฉลย คลิกที่นี่

- ชีววิทยา คลิกที่นี่

- ภาษาไทย คลิกที่นี่

- สังคมศึกษา คลิกที่นี่

- ภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.dek-d.com/admission/26262/
ขอขอบคุณข้อสอบและเฉลยจาก : http://p-dome.com/7-w-55-57/

ใบงานที่ 5 ค่านิยม 12 ประการ



ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ 
ตามนโยบายของ คสช.

ความเป็นมา

               “ค่านิยมสิบสองประการ” เป็นค่านิยมที่นายกรัฐมนตรี พล อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบให้กับคนไทย โดยเป็นการนำค่านิยมที่ดีที่คนไทยล้วนชื่นชมมาช้านาน รวมทั้งพระราชดำริสอนใจที่สำคัญ มารวบรวมและเรียบเรียงให้จำง่าย เพื่อนำไปปฏิบัติเป็นกิจวัตร เป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีในสังคมไทย ทีมงานของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม จึงได้มีโครงการจัดทำสติ๊กเกอร์ “ค่านิยมสิบสองประการ” โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (หรือ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) และกระทรวงวัฒนธรรม มีการออกแบบและจัดทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหวที่สื่อความหมาย โดยทีมงานที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มานานแล้วในด้านการสื่อสารกับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ของขวัญชุดนี้ยังรวมภาพอื่นๆ ที่เป็นเรื่องการทักทาย และการให้ของขวัญ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนไทยในวาระแห่งความสุข ขึ้นปี พ.ศ. 2558 นี้


1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์


2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม 



3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ 


4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม 


5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม 


6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน 


7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง 


8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ 


9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 


10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี 


11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา 


12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง





ค่านิยม 12 ประการ "MV ลูกทุ่ง"

ขอบคุณรูปภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=lZLf_iRLLcg
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.mnre.go.th/ewt_news.php?nid=3230
                                      http://www.sti.or.th/12cvlinesticker/#about

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ใบงานที่ 4 พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐


พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. ๒๕๕๐

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

                  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสำคัญ ของการประกอบกิจการ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่น ในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควร
มีกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ
ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี

                มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐”
                มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า
                อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ
                 “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์
ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรม
ทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
                “ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึง
แหล่งกำเนิดต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสาร
ของระบบคอมพิวเตอร์นั้น
                “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
                                (๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น
                โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
                                (๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
                “ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม
                “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
                มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจ
ออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
                มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้น
มิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าว
ไปเปิดเผยโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้น
มิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น
ที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไป
ใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น
โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท


                มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
                                (๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
                                (๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์    หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ  ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะหรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์
                หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาท
                ถึงสามแสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
                มาตรา ๑๓ ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
ตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
                                (๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
                                (๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
                                (๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
                                (๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
                                (๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑)(๒) (๓) หรือ (๔)
                มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔
                มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏ
เป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูล
คอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิด
ตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือ บุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
                มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
                                (๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหาย
ได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
                                (๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหาย
ได้ร้องขอให้ลงโทษจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร

หมวด ๒
พนักงานเจ้าหน้าที่
                มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด
ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
                                (๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ
                ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
                                (๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์
                หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
                                (๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครอง
                หรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
                                (๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามี
                การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
                                (๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์
                 ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
                                (๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล
                 คอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำ
                 ความผิดและสั่งให้บุคคลนั้น| ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้
                                (๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูล
                 คอมพิวเตอร์ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
                                (๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

                มาตรา ๑๙ การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วยในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว
                เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้
                ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ  (๘) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน
                 การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๘ (๔) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น
                 การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๘ (๘) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน
                หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                มาตรา ๒๐ ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้อง พร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
                 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้

                มาตรา ๒๑ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลายหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้
                 ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลใด
                ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล
                พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                มาตรา ๒๓ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                มาตรา ๒๔ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                มาตรา ๒๕ ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น

                มาตรา ๒๖ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้
                 ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                 ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

                มาตรา ๒๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

                มาตรา ๒๘ การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด

                มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
                ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
               ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐมนตรีมีอำนาจ ร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง

                มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี


บทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด
พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ที่มา : http://www.site.rmutt.ac.th/cuemedia/files/2013/08/ACT-mix.jpg


ความรู้ พรบ. คอมพิวเตอร์ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.amnathos.go.th/row.html

ใบงานที่ 3 บทความและสารคดี


ม.6 ต้องอ่าน!! 5 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ GAT/PAT


1) หน้าที่ของ GAT PAT

          GAT คือ การวัดความถนัดทั่วไป แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พาร์ทภาษาไทย หรือที่เรียกว่าพาร์ทเชื่อมโยง จะวัดเรื่องความสามารในการอ่านและวิเคราะห์ อีกพาร์ทนึงเป็นภาษาอังกฤษ ก็วัดความสามารถทางภาษาอังกฤษค่ะ รวมกันสองพาร์ทนี้ 300 คะแนน
          PAT คือ วิชาสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ แบ่งออกเป็นหลายวิชา วัดศักยภาพตามกลุ่มวิชาชีพ คือ
                 - PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์
                 - PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
                 - PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
                 - PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู
                 - PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
                 - PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายภาษา ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาอาหรับ และภาษาบาลี


2) คณะไหนใช้อะไรบ้าง

            เกริ่นไปตอนต้นเยอะเลยว่า GAT PAT สำคัญมากๆ ในระบบแอดมิชชั่นกลาง ดังนั้นน้องๆ ก็สงสัยกันว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าคณะไหนใช้อะไรบ้าง พี่มิ้นท์สรุปตามกลุ่มวิชาคร่าวๆ ให้เตรียมตัวกัน ดังนี้
           PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มคณะวิทยาศาสตร์กายภาพ กลุ่มเกษตร-วนศาสตร์ กลุ่มบริหาร-บัญชี เศรษฐศาสตร์ กลุ่มมนุษยฯ-อักษรฯ-สังคมศาสตร์ (ยื่นคะแนนรูปแบบที่1)
           PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์
           PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์
           PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
           PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
           PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์
           PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มการโรงแรมและท่องเที่ยว(ยื่นคะแนนรูปแบบที่2) กลุ่มมนุษยฯ-อักษรฯ-สังคมศาสตร์(ยื่นคะแนนพื้นฐานศิลป์ รูปแบบ2)

3) ใครสอบได้บ้าง

             สำหรับการสอบ GAT PAT ค่อนข้างจะอิสระพอสมควร เพราะทุกคนมีสิทธิในการสอบหมด ทั้ง ม.6 เด็กซิ่ว และ สายอาชีพ และจะสมัครกี่ครั้งก็ได้(แต่ปีนึงมีแค่ 2 ครั้ง) เพราะการสมัครสอบสามารถดำเนินการสมัครได้ด้วยตนเอง ดังนั้นอยู่ที่ความรับผิดชอบของตัวเอง หากสมัครไม่ทัน ผลเสียก็ตกอยู่ที่ตัวเองค่ะ
             อายุของคะแนนสอบ GAT PAT อยู่ได้ 2 ปี นั่นหมายความว่า หาก ม.6 ปีนี้ อยากซิ่วในปีหน้า คะแนนของปีนี้ก็ยังใช้ได้ ดังนั้นในความหมายเดียวกัน ถ้ารุ่นพี่แอด55 จะซิ่วในปีนี้ ก็สามารถใช้คะแนนปีที่แล้วได้ด้วย โดยในการสมัครแอดมิชชั่นกลางจะมีระบุไว้ว่าใช้รอบใดได้บ้าง
แต่ในรับตรงบางคณะ จะกำหนดไว้ว่าใช้คะแนนรอบไหนได้บ้าง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างคือรายละเอียดล้วนๆ ต้องดูให้ถี่ถ้วนเอง

4) วิธีเตรียมตัวสอบ gat/pat

            สำหรับการเตรียมตัวสอบ GAT PAT พี่มิ้นท์จะขอข้ามเรื่องการกวดวิชาไปนะ เพราะเรื่องกวดวิชาขึ้นอยู่กับดุลพินิจในเรื่องความจำเป็นและความหนาของกระเป๋าสตางค์ >< แต่จะพูดถึงการเตรียมตัวด้วยตนเอง มีเคล็ดลับง่ายๆ แต่จะยากตรงที่ต้องใช้ลูกขยันของเราล้วนๆ ค่ะ
                  1) เริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ ว่าเราจะสอบวิชาอะไรบ้าง และวางแผนการอ่านหนังสือของเรา เช่น จะอ่าน GAT ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอ่าน PAT วันที่เหลือ เป็นต้น
                  2) เข้าใจข้อสอบก่อนว่า ข้อสอบ GAT PAT จะมีระดับความยากกว่า O-NET เพราะอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ เพราะฉะนั้น จะอ่านหนังสือแต่ละทีต้องตั้งใจและมีสมาธิมากๆ รวมถึงหาขอบเขตเนื้อหาของข้อสอบมาดู และไปตามหาหนังสือที่มีรายละเอียดเรื่องนั้นๆ มาอ่าน ซึ่ง อาจจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือที่ใช้เรียน เพื่อให้ได้ข้อมูลกว้างขึ้นนะ
                 3) ดาวน์โหลดข้อสอบเก่าๆ มาลองทำ การอ่านเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไรจริงๆ เราต้องลงมือทำข้อสอบด้วย เพื่อให้คุ้นกับแนวข้อสอบ ยิ่งทำเยอะ ยิ่งได้เปรียบ
                 4) ทุกครั้งที่ทำข้อสอบจับเวลาด้วย เอาให้ใกล้เคียงกับเวลาในการสอบจริงมากที่สุด หากเลยเวลาไม่เป็นไร ค่อยๆ ปรับตัว ขออย่าเดียว อย่าหยุดทำ
                 5) ตามข่าวว่ามีที่ไหนให้ติวฟรีบ้าง ซึ่งในแต่ละปีมีหน่วยงานหลายหน่วยงานจัดติวฟรี และส่วนใหญ่จะรับจำนวนจำกัด อยากได้ของฟรีต้องรีบ แต่ก็อย่าสักแต่ว่าจะไปฟรีนะ ถ้าคิดจะไปก็ควรตั้งใจเรียนให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าในการจัดติวแบบนี้เราจะได้เทคนิคดีๆ มาเยอะมาก ส่วนเอกสารหรือหนังสือที่ได้มา มีเวลาว่างก็ขอให้อ่าน อย่าดองนะ เดี๋ยวปลวกขึ้น!!

5) ข้อสอบเก่าๆ ช่วยได้ล้าน %

               น้องๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ อาจพบความลำบากนิดนึง ตรงที่ตามหาข้อสอบและเฉลยย้อนหลังช่วงการสอบสองสามปีนี้ไม่ได้ เพราะทาง สทศ.งดเผยแพร่ในเว็บไซต์ เนื่องจากต้องจัดทำคลัง
ข้อสอบ ทำให้ ได้แต่ทำข้อสอบเก่าๆ ของปี 52 53 แต่ถ้าใครยังไม่เคยเห็นโฉมหน้าข้อสอบ พี่มิ้นท์จะพาน้องๆ ไปโหลด

ไปที่หน้า สทศ. www.niets.or.th และกดดาวน์โหลดข้อสอบด้านขวา




เทคนิคเตรียมตัวสอบ GAT PAT วิชาคำนวณ


ขอขอบคุณที่มาจาก : http://krupom.sbp.ac.th/?p=577

ใบงานที่ 2 ความรู้เรื่อง บล็อก (ฺBlog)


Blog คืออะไร?



          - บล็อก (Blog) คือเว็บไซด์รูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายๆกับการเขียนไดอารี่ หรือ บันทึกส่วนตัว ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากเราใช้ฟรี ไม่ต้องเสียเงิน

          - คำว่า "Blog" มาจากคำเต็มว่า "Weblog" (ตัด We ทิ้ง คงเหลือแต่ blog) ซึ่งโดยนัยแล้วหมายถึง การบันทึกข้อมูล(Log) บน เว็บ(Web) นั่นเอง 

          - โดยผู้ที่เขียนบล๊อกเป็นอาชีพ จะถูกเรียกกันว่า "บล็อกเกอร์" (Blogger) 

          - จุดเด่นที่สำคัญของ Blog คือ จะมีระบบที่ผู้อ่านและผู้เขียนสามารถแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้ โดยผ่านทางระบบ Comment ของบล๊อก





Blog ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

          - ทำ Blog เป็นเว็บไซด์ส่วนตัว เพื่อแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้กับผู้อื่นๆ เช่น บันทึกไดอารี่ 

          - เขียน Blog เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ นำเสนอสิ่งที่ตนเองรู้ หรือสิ่งที่ตนเองสนใจ เพื่อแบ่งปันให้กับผู้อื่น

          - สร้าง Blog ทำเป็นเว็บไซด์เพื่อใช้ในการโปรโมทธุรกิจ ร้านค้า บริการต่างๆ

          - ใช้ Blog ในการทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce)

          - นอกจากนี้ Blog ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่นิยมใช้กับเพื่อหารายได้จาก Internet Marketing


Blog กับ Website ต่างกันอย่างไร?

          - เว็บไซด์ทั่วๆไปนั้น จำเป็นต้องมี Server, มี Host มี Domain Name เป็นของตนเอง ซึ่งจะต้อง  เสียค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนของ Blog นั้นเราสามารถสมัครใช้บริการได้แบบฟรี เพียงแต่เราต้องใช้ชื่อ Domain ของผู้ให้บริการนั้นๆ เช่นของ Google คือ Blogger.com - โดเมนเนม ก็จะเป็น "ชื่อ Blog ของคุณ" ต่อท้ายด้วย "blogspot.com" เช่น JoJho-Problog.blogspot.com

          - เว็บไซด์ทั่วไปจะมีความยืดหยุ่นสูงในการออกแบบ ดีไซน์ เพราะเราต้องสร้างเองทั้งหมด (ดังนั้นจะเลือกดีไซน์ยังไงก็ได้)

          - แต่ Blog จะมีการดีไซน์ในรูปแบบเฉพาะเรียกว่า Blog Template ซึ่งมีให้เลือกมากมาย แต่ยังคงมีลักษณะโครงสร้างที่ค่อนข้างตายตัว ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้มากตามใจชอบอย่างเว็บไซด์

          - การสร้างเว็บไซด์ จำเป็นต้องมีทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มากพอสมควร ทั้งในส่วนของภาษาคอมพิวเตอร์, โปรแกรมคอมติวเตอร์ต่างๆ ความรู้เบื้องต้นในเรื่องของ Network เป็นต้น แต่ Blog เพียงรู้หลักในการใช้เล็กน้อยเท่านั้น ก็สามารถสร้างเว็บไซด์ได้อย่างง่ายดาย


Blog กับ เว็บไซด์สำเร็จรูป ต่างกันอย่างไร?

          - Blog และ เว็บไซด์สำเร็จรูป (Instant Website) เป็นเว็บไซด์ที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน ที่เรียกว่า เว็บไซด์ในรูปแบบ CMS (Content Management System) คือจะเน้นในการจัดการเนื้อหาและบทความ เป็นหลัก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรมเลย ก็สามารถ สร้าง Blog ขึ้นได้โดยวิธีการเข้าใจได้ไม่ยาก

          - เว็บไซด์สำเร็จรูป มีทั้งแบบ เราสร้างเว็บเอง หรือ ไปขอใช้บริการแบบที่เค้าสร้างให้เสร็จแล้ว ซึ่งในที่นี้ผมจะขอกล่าวถึงแต่ เว็บไซด์สำเร็จที่เค้าสร้างให้เสร็จแล้ว เพราะจะใกล้เคียงกับบริการของ Blog

          - เว็บไซด์สำเร็จรูป ที่นิยม จะเป็นในรูปแบบเปิดร้านค้าออนไลน์ (Online Shopping, Instant Online Store) ซึ่งจะมีระบบที่สนับสนุนกับการทำ E-Commerce รองรับในตัว เช่น ตะกร้าสินค้า, เว็บบอร์ด ในขณะที่ Blog จะไม่มี

          - ดังนั้นในการเปิดร้านค้าออนไลน์นั้น เว็บไซด์สำเร็จรูปจะเหมาะสำหรับ ร้านที่มีสินค้าขายเป็น ชิ้นๆ ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรในระดับหนึ่ง ... ในขณะที่ Blog จะเหมาะสำหรับร้านที่มีสินค้าตั้งขายจำนวนน้อย

          - Blog จะเหมาะสำหรับธุรกิจที่เน้นให้บริการเป็นหลัก หรือธุรกิจแบบมีร้านค้าจริงๆ เพื่อแนะนำร้านสถานที่ตั้งร้าน นำเสนอและโปรโมทสินค้าบริการต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่เว็บไซด์สำเร็จรูปแบบร้านค้าออนไลน์นั้นจะเหมาะสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ (Products) ต่างๆมากกว่า Blog


ข้อดีและข้อเสียของ Blog

ข้อดี

- มีอิสระที่จะนำเสนอสิ่งต่างๆ (ที่ไม่ไปก้าวล่วงบุคคลอื่น และไม่ผิดกฎกติกาของผู้ให้บริการ Blog)

- เปิดโอกาสให้เจ้าของ Blog ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าชมและโต้ตอบกลับได้อย่างอิสระ

- ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในด้านภาษาโปรแกรมต่างๆ

- หากพอมีความรู้ด้านภาษาเว็บพื้นฐาน (HTML) จะสามารถช่วยทำให้เข้าไปแก้ไข Source Code ได้
เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบ Template ของ Blog ตามต้องการ

- สามารถใช้ Blog ในการทำธุรกิจหารายได้ จากการโปรโมทสินค้าหรือบริการ

- สามารถใช้สร้างเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้

- ใช้งานได้ฟรี!! ไม่เสียค่าใช้จ่าย (ยกเว้นต้องการจด Domain Name เป็น .com .net .org .info)

- มี Template ให้เลือกใช้มากมาย (ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน)

- Server มีความเสถียรสูง ปัญหาในด้านความช้า หรือ Server ล่ม พบน้อยมาก

ข้อเสีย

- ฟังก์ชั่นและลูกเล่นต่างๆ ยังมีน้อยหากเทียบกับเว็บไซด์ที่สร้างเองหรือเว็บไซด์สำเร็จรูป

- แม้มีรูปแบบ Template ให้เลือกใช้มากมายแต่โครงสร้างเว็บก็ยังคงค่อนข้างตายตัว

- เนื่องจากเป็นบริการให้ใช้ฟรี หากเราทำผิดกฎของผู้ให้บริการ Blog เราจะถูกแบน และมีโอกาส
ถูกลบ Blog ได้ (แต่ถ้าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร ก็อยู่ได้อย่างยาวนานจนกว่าผู้บริการจะเลิกให้บริการ)




การเริ่มต้นทำบล็อกเบื้องต้น
จาก Blogger.com




ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.jojho.com/2013/05/what-is-blog.html